เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ เวบไซต์ชื่อ www.tookkatoon.com ได้ถือกำเนิดขึ้นในโลกไซเบอร์เนตเพื่อเป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับศิลปะหุ่นกระบอกไทย ให้คนไทย ชาวต่างชาติ และเยาวชนรุ่นใหม่ได้รู้จัก การเปิดตัวครั้งนั้น ไม่เป็นเพียงแต่นำศิลปะวัฒนธรรมไทยเข้าสู่โลกเทคโนโลยี แต่ยังได้นำความรักในหุ่นกระบอกไทยและความตั้งใจในการสร้างสรรค์งานของนิเวศ แววสมณะ สู่วิถีแห่งการสืบสานมรดกไทย

ชีวิตที่ผกผันเข้าสู่วงการโฆษณากว่า ๑๐ ปี แต่ด้วยใจที่รักในศิลปะไทยจึงทำให้นิเวศ ตัดสินใจวางมือจากวงการโฆษณาช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อมุ่งสู่การเรียนรู้ค้นคว้าหาข้อมูลและเรียนรู้การประดิษฐ์หุ่นกระบอกไทยจากตำราที่ศิลปินท่านต่างๆได้บันทึกเอาไว้

คำครู “การเชิดหุ่นสำคัญที่ใจรัก มีความมานะพยายามเชิดหุ่นให้สวย ให้ดีที่สุดเพราะหุ่นไม่มีกฎเกณฑ์อะไร เชิดให้สวยให้ได้จังหวะ ให้ได้อารมณ์ตามบทเท่านั้นเองดิฉันเชิดหุ่นมานานกว่า๗๐ ​ปีแล้ว จนหุ่นเกือบเป็นชีวิตของฉันเอง ฉันไม่อยากให้หุ่นกระบอกต้องหาย หรือเสื่อมไปเลยอยากให้มีคนเชิด คนเล่น รับทอดกันต่อๆไปขอคุณครูหุ่นทุกท่านที่ดิฉันเคารพบูชา บันดาลให้เจตนารมณ์นี้สัมฤทธิ์ผลด้วยเทอญ” ( ครูชื้น สกุลแก้ว ให้สัมภาษณ์ ปี ๒๕๒๙)

ความตั้งใจแรกเมื่อเริ่มก่อตั้งบ้านตุ๊กกะตุ่น หุ่นกระบอกไทย นิเวศต้องการให้เป็นเพียงแหล่งผลิต ตั้งแสดงงานและการซื้อขายหุ่นกระบอกไทยเท่านั้น แต่จากการค้นคว้าหาข้อมูลที่มากขึ้น พบว่างานศิลปะด้านนี้มีคุณค่าแต่กลับเงียบหายมาเกือบ ๑๐๐ ​ปี ซึ่งหุ่นกระบอกไทยมียุคเฟื่องฟูอยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีผู้ประดิษฐ์และคณะการแสดงอยู่หลายแห่ง ปัจจุบันเหลือเพียงไม่กี่คณะและมีผู้ที่ทำหุ่นกระบอกเพียงไม่กี่คน ซึ่งการประดิษฐ์หุ่นกระบอกไทยต้องใช้งานฝีมือหลายสาขาเช่น งานช่างปั้น ช่างรัก(ลงรัก) ช่างเขียน ช่างแกะ ช่างหล่อ รวมทั้งงานเย็บปักดิ้นทองเลื่อม โลหะ ส่วนในด้านศิลปะการแสดงหุ่นกระบอกไทยก็มีอยู่หลายด้าน อาทินาฏศิลป์ ดนตรีไทย การขับร้อง ฯลฯ ซึ่งงานทางด้านหุ่นกระบอกไทยต้องใช้ช่างที่มีความรู้และความสามารถเฉพาะตัวเป็นอย่างสูง ซึ่งสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนี้จึงทำให้ความตั้งใจแรกของนิเวศกลายเป็นความมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์และสืบสานงานช่างหุ่นกระบอก นิเวศจึงได้สืบเสาะค้นหาจนได้พบกับครูชูศรี(ชื้น) สกุลแก้ว ศิลปินแห่งชาติ สาขาการแสดง(หุ่นกระบอก) ปีพุทธศักราช ๒๕๒๙ และได้รับการถ่ายทอดวิชาการเชิดหุ่นกระบอกไทยให้แก่นิเวศ จนกลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงด้านศิลปะหุ่นกระบอกไทยอีกคนในปัจจุบัน ครูชูศรี(ชื้น) สกุลแก้ว ซึ่งถือเป็นบรมครูผู้ทุ่มเทและอุทิศตนอันใหญ่หลวงให้แก่วงการศิลปะไทยและยังเป็นครูที่สั่งสอนถ่ายทอดศิลปะไทยอย่างไม่เคยหวงแหนวิชาแก่ศิษย์แม้แต่น้อย เพื่อให้งานศิลปะของไทยไม่เสื่อมหายและอยู่คู่กับประเทศไทย

ทุกวันนี้ หลักการสอน พร้อมด้วยหัวใจในการอนุรักษ์ของครูชื้น จึงกลายมาเป็นแบบอย่างให้นิเวศ มุ่งมั่นในการพัฒนาหุ่นกระบอกไทยทั้งในด้านการประดิษฐ์หุ่นและการเชิดแสดง จนได้รับการยอมรับจากกระทรวงวัฒนธรรมให้เป็นวิทยากรด้านศิลปะหุ่นกระบอกไทย ในวาระพิเศษและงานเทศกาลต่างๆ ที่กระทรวงวัฒนธรรมเข้าร่วมงานทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

นับจากนี้ บ้านตุ๊กกะตุ่น หุ่นกระบอกไทย ของนิเวศ ยังคงทำหน้าที่เป็นแหล่งให้สถาบันการศึกษา เยาวชน ประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ สามารถเข้ามาสัมผัส หาความรู้ ชื่นชมความสวยงามของงานศิลปะหุ่นกระบอกไทย ไม่ใช่แค่ความมีชื่อเสียงที่หุ่นกระบอกไทยได้รับจากนานาประเทศ สำหรับนิเวศแล้ว ความสนใจของผู้ชื่นชม ความเข้าใจต่องานศิลปะหุ่นกระบอกไทยที่ติดตรึงใจของผู้ชม